Logo Main

2morrow Scaler 7 จัดเต็ม พาล้วงลึกจาก Super Engine ในการขับเคลื่อนธุรกิจ

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 บจ. ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน ร่วมกับเหล่าพันธมิตร 2morrow Group และ FIRM ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญตัวจริงมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ดี ๆ ให้กับเหล่า 2morrow Scaler 7

2morrow Scaler หลักสูตรด้านการขยาย (Scale) ธุรกิจ ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ดีที่สุดในประเทศไทยสำหรับคนที่ต้องการสเกลธุรกิจจริง โดยเชื่อมโยงพันธมิตรที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้สร้างธุรกิจข้ามพรมแดนประเทศให้สำเร็จได้อย่าง Beyond Frontiers

เครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือแรงหนุนจากภาครัฐ

ภายในงานได้รับเกียรติจากคุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มาพูดในหัวข้อ “BOI & TISTR : Super Engine to make your business competitive in global scale” โดยคุณนฤตม์ ได้เล่าถึงบทบาทของ BOI ที่หลายคนมองว่าเป็นหน่วยงานเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจแต่จริง ๆ แล้ว BOI เป็นหน่วยงานของภาครัฐอยู่ภายใต้สำนักนายก ภารกิจหลักคือการส่งเสริมการลงทุน แต่ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนนั้นมีหลายบทบาทตั้งแต่การกำหนดนโยบายในการส่งเสริม ซึ่ง BOI มีการกำหนดนโยบายเองด้วย ผลักดันนโยบาย และปฏิบัติเองด้วย โดย BOI มีสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน รวมทั้งการให้บริการการให้คำปรึกษาต่าง ๆ กับนักลงทุน โดย BOI มีศูนย์ต่างจังหวัดจำนวน 7 ศูนย์ และสำนักงานต่างประเทศจำนวน 16  แห่ง ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกและทำเรื่องการตลาดให้กับนักลงทุน นอกจากนี้คุณนฤตม์ ได้พูดถึงประเด็นที่คนมักเข้าใจผิดว่าความจริงแล้ว BOI ส่งเสริมการลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติ เงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท (SMEs 5 แสนบาท) ส่งเสริมทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ การส่งเสริมการไม่กำหนดเงื่อนไขส่งออก ส่งเสริมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมกับพื้นที่เป้าหมาย เช่น EEC, เขตเศรษฐกิจพิเศษ. ชายแดนใต้ ส่งเสริมเป็นรายโครงการ และ BOI ยังมีสิทธิประโยชน์ Non-tax และบริการด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

พัฒนาการของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI

สำนักงาน BOI ถูกจัดตั้งมาเป็นเวลา 57 ปี แต่นโยบายส่งเสริมการลงทุนมีมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2497-2500 ที่เป็นกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมฉบับแรก ซึ่ง BOI ทำมาตั้งแต่ยุคพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าตอนปี 2501-2514 ไปจนถึงยุคการส่งเสริมให้เกิดการส่งออกและพัฒนาภาคตะวันออก (ESB) ปี 2525-2534 เมื่อเกิดความเจริญมากขึ้นจึงอยากกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเปิดเสรีอุตสาหกรรม ช่วงปี 2535-2539 เมื่อก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาได้ จึงมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันช่วงปี 2543-2552 และเน้นความสมดุลและยั่งยืนซึ่งเป็นช่วงวิกฤติมาบตาพุดจึงเกิดการฟรีซโครงการไปกว่า 70 โครงการตอนปี 2553-2557 หลังจากนั้นมาเป็นช่วงที่หันมาให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนหลังสุดนั้นได้หันมาเน้นในการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วงปี 2558-2565 สุดท้ายนโยบายใหม่ที่พึ่งประกาศไปเมื่อช่วงต้นปีคือการปรับโครงสร้างเพื่อไปสู่เศรษฐกิจใหม่

ดร.อาภากร สุปัญญา พาทำความรู้จัก วว.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐ ซึ่งตอนแรกตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2506 และได้เปลี่ยนมาใช้ พระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และวิสัยทัศน์ของ วว. ในปี 2566-2570 คือการสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีสตาฟประมาณ 800 คน ในนั้นมี PHD ประมาณ 15% ซึ่งในนั้นจบสาขาเฉพาะทาง และมีมาสเตอร์ประมาณ 35% ซึ่งจะเห็นว่าเกิน 50% เป็นคนที่ทำงานในระดับของวิชาการเกิน 70% โดยมียุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนที่สำคัญคือ ต้องการสนับสนุนให้ประเทศได้ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ BCG และมีการใช้วทน. สนับสนุนการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถ SME พัฒนานวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและสังคม พัฒนาองค์กรสมรรถนะสูง HPIO และเพิ่มความสามารถในการพัฒนาตนเอง

4 Guiding Principles : กรอบแนวทางการดำเนินงานของวว.

หลักการทำงานสำคัญที่ยึดถือกันของวว. ประกอบไปด้วย Bio Based Research วิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ ครอบคลุมภารกิจที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ เช่น การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร Appropriate Technology พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทในการใช้งานจริง ทั้งในด้านต้นทุนและซับซ้อนของเทคโนโลยี Total Solution Provider การบริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลติภัณฑ์ต้นแบบจนสู่ระดับเชิงพาณิชย์ (Commercialization) อย่างครบวงจรจนถึงการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ และ Community (Area Based) การดำเนินงานที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

9 มาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

ด้านคุณนฤตม์ ได้พูดถึง 9 มาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI นั้นประกอบไปด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention & Expansion Program) มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (Relocation Program) มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart & Sustainable Industry) มาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

ล้วงลึก 3 หน่วยงานที่พร้อมให้ทุนแก่เหล่า Start Up

อีกช่วงที่ล้ำค่าคือการได้ฟังเรื่องราวจากหน่วยงานที่เป็นผู้ให้ทุนกับผู้ประกอบการทั้งดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Found) ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ที่มาพูดในหัวข้อ “เปลี่ยนนวัตกรรม เป็นโอกาสทางธุรกิจ”

TED Found The Future of Innovation สร้างนวัตกรรมเพื่ออนาคต

ดร.ชาญวิทย์ ได้เล่าถึงความเป็นมาของ TED Fund ไว้ว่าเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดิมทีเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ พอมีเรื่องอุดมศึกษามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้ทุนของ TED Fund เอง เน้นให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในภาคของอุดมศึกษามากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะให้ทุนในส่วนของทุนวิจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก แต่ก็อยากให้มีทุนบางตัวมาเชื่อมต่อช่องว่างตรงนี้เพื่อให้งานวิจัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ในส่วนของ TED Fund นั้นก่อตั้งเมื่อ 9 สิงหาคม 2559 หลัก ๆ ของ TED Fund คือการให้ทุนผู้ประกอบการอีกส่วนก็คือเน้นการทำงานกับภาคมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน ทุน TED Fund เหมาะสำหรับคนที่มองในเรื่องธุรกิจ โดยที่มีวิจัยและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานเพื่อนำไปต่อยอดเช่น การเป็นต้นแบบ การผลิตนำร่อง การมองหาตลาด

10+2 อุตสาหกรรมที่ TED Fund ให้การสนับสนุน

กลุ่มทุนที่ TED Fund ให้การสนับสนุนเน้นกระจายไปในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศซึ่งได้แบ่ง 10 อุตสาหกรรมออกเป็น S-curve การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ด้าน New S-curve ยกระดับมูลค่า (Value Shifted) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมขนส่งและการบิน อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล สำหรับ +2 นั้นจะเป็นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา

depa หน่วยงานที่ทำให้ภาคเอกชนมีความแข็งแกร่งเพื่อไปช่วยในเรื่อง Digital Transformation

ดร.ชินาวุธ ได้เล่าเกี่ยวกับ depa ไว้ว่าหน้าที่หลักคือทำอย่างไรให้มีสตาร์ทอัพ มีผู้ให้บริการเทคโนโลยี หรือมีผู้ให้บริการต่าง ๆ ในธุรกิจที่สามารถเอาเทคโนโลยีดิจิทัลใช้ เริ่มจากในส่วนที่ส่งเสริม ร่วมลงทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินไปหมุนในการทำธุรกิจ จากนั้นเข้าไปส่งเสริมให้สามารถเข้าไปตลาดภาครัฐและเอกชนได้ เพื่อให้เขาไปทรานฟอร์ม เซคเตอร์ที่เป็นภาคเกษตร SME จำนวน 3 ล้านราย หรือภาคอุตสาหกรรม

ลักษณะการสนับสนุนของ depa

ในส่วนของการสนับสนุนนั้นดร.ชินาวุธ เผยว่าโชคดีที่กฎหมายของเราค่อนข้างใหม่เป็นหน่วยงานที่มีการร่าง พรบ. ใหม่ที่อนุญาตให้เราสามารถทำได้หลายอย่าง ถ้าเทียบกันในหน่วยงานราชการเราอยู่ใกล้เอกชนที่สุด สามารถเข้าไปร่วมดำเนินการกับเอกชนโดยใช้รูปแบบต่าง ๆ ร่วมเข้าไปถือหุ้น ลงทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าทำงานไปในลักษณะนั้น เป็นหน่วยงานที่เข้าไปร่วมลงทุน ร่วมรับความเสี่ยงกับตัวธุรกิจเลย เข้าไปลงทุนในผู้ถือหุ้นได้ โดยการลงทุนร่วมกับภาครัฐโดยปกติจะลงทุนอยู่ที่ 100 ล้านบาท ส่วนภาคเอกชนจะอยู่ที่ 50 ล้านบาท

สนช. หน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในไทย

ดร.สุรอรรถ ได้บอกเล่าถึงสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) อยู่ภายใต้อว.แต่เป็นองค์การมหาชน ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนจะคิดว่าสนช. NIA นั้นเป็นเพียงผู้ให้ทุน แต่ในวันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ซึ่งถือว่าตอนนี้สนช. เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นนโยบายของสนช. 3G คือ Groom Grant Growth โดยเป็นหน้าที่หลักของสนช.ที่ทำให้คนหรือองค์กรที่ไม่เคยรู้เรื่องนวัตกรรมมีการจัดการอย่างไรบ้างเพื่อให้องค์กรไปถึงฝั่งได้

Open Innovation นวัตกรรมแบบเปิดกลไกให้เงินสนับสนุนสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่ 2

นวัตกรรมแบบเปิดเป็นหนึ่งในกลไกการให้เงินทุนสนับสนุนสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่ 2 “การสร้างคุณค่าและมูลค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานเดิมที่มีศักยภาพ และชักนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศอย่างมีนัยสำคัญทั้งกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม และวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งเป็นไปตามกลุ่มสาขาเศรษฐกิจดังนี้ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) สาขาเศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน (Manufacturing and circular economy) และสาขาเศรษฐกิจบริการและแบ่งปัน (Service and sharing economy )

โสเหล่ กิจกรรมสุดเท่ของ 2morrow Scaler

หลักสูตร 2morrow Scaler รุ่น 7 ยังมีกิจกรรมโสเหล่ที่ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มได้มาแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ และให้คนได้รู้จักกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของหลักสูตร 2morrow Scaler โดยในวันนี้แต่ละกลุ่มได้ส่งตัวแทนนักธุรกิจตัวจริงมาเล่าแบ่งปันประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นดร.วิปร วิประกษิต

ผู้จัดการ บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด คุณเอกธัช ภัทระโภคพัฐ Director of Project Development Department, TED Fund คุณทิพยจันทน์ หัสดินทร ณ อยุธยา Chief Executive Officer, GREYnj United และคุณสนิทัศน์ อิสรีย์นเรศ Sales Manager, Richie Natural Oil Co.,Ltd. ซึ่งทั้ง 4 ท่าน ได้มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์สุดล้ำค่าที่หาฟังได้ใน 2morrow Scaler เท่านั้น

ประสบการณ์ดี ๆ แบบมีเงินก็ซื้อไม่ได้ (Money Can’t Buy) เช่นนี้ มีที่หลักสูตร 2morrow Scaler เท่านั้น

Share Article

Related Posts

เปิดรับสมัครแล้ววันนี้!! 2morrow Scaler รุ่นที่ 8

จัดใหญ่ วันปิดหลักสูตร 2morrow Scaler รุ่น 7 พร้อมเหล่า Directors กล่าวจบงานอย่างสวยงาม

2morrow Scaler 7 บุกถ้ำมังกร บริษัท อมิตา โรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

พิธีปิดหลักสูตร 2morrow Scaler รุ่น 7 อย่างยิ่งใหญ่ เชิญพรรคการเมืองเปิดนโยบายเศรษฐกิจเลือกตั้ง 66

The Forestias เมืองแห่งความสุขที่อาศัยอยู่บนผืนป่าย่านเมืองกรุง

2morrow Scaler 7 บุกถ้ำมังกร The Forestias by MQDC เมืองแห่งความสุขที่ยั่งยืน