คุณสุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ร่วมแชร์เรื่องราวและบอกเล่าเส้นทางของตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Central Group จากบริษัทสัญชาติไทย ที่เติบใหญ่จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจอันดับโลก ในหลักสูตร 2morrow Scaler
หลักสูตร 2morrow Scaler รุ่นที่ 7 หลักสูตรการ Scale ธุรกิจที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหลักสูตรเพื่อนักธุรกิจ ที่ดีที่สุดหลักสูตรหนึ่งในประเทศไทย จัดโดย บจ. ดูเรียนคอร์ปปอเรชัน (DURIAN) ร่วมกับเหล่าพันธมิตร 2morrow Group และ FIRM ปัจจุบันจัดต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่ 7 โดยมีเครือข่ายทั้งผู้ประกอบการ นักธุรกิจชั้นนำ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่ร่วมหลักสูตรสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับประเทศและนานาชาติ ได้รับเกียรติจากคุณสุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล Head of Group Treasury and Corporate Finance ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ขึ้นมากล่าวบอกเล่าประสบการณ์และการเดินทางของ Central กว่าจะมาเป็น Central Group ในปัจจุบัน ณ Central World เมื่อวันพุธ ที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
ธุรกิจยิ่งใหญ่ ครอบครัวขยาย เติบโต ธรรมนูญครอบครัวจึงสำคัญ
“จิราธิวัฒน์” หนึ่งในตระกูลใหญ่ของเมืองไทย ผู้บุกเบิกธุรกิจ “ค้าปลีก” จนกลายเป็น “ผู้นำ” ค้าปลีกในไทย โดยในปี 2565 นิตยสารForbes จัดอันดับมหาเศรษฐีของเมืองไทย ซึ่งตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่ง “Central Group” ครองความมั่งคั่งเป็นอันดับ 5 มีมูลค่าทรัพย์สินมากถึง 3.73 แสนล้านบาท
คุณสุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล กล่าวว่า คุณแม่เป็นลูกคนที่ 5 จากทั้งหมด 26 คน ของ “คุณเตียง จิราธิวัฒน์” ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์รุ่นแรก ปัจจุบันตระกูลจิราธิวัฒน์มีสมาชิกในครอบครัว 242 คน แยกเป็น 5 Generations โดยการมีธุรกิจครอบครัว ที่มีสมาชิกจำนวนมากอยู่ร่วมกันในหลายเจเนอเรชั่น ทำให้การบริหาร Family Business เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ดังนั้นครอบครัวจิราธิวัฒน์จึงมีการตั้งกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันที่เราเรียกว่า ธรรมนูญครอบครัว (Family council) โดยจะมีการแก้ไขทุก ๆ 4 ปี อย่างแรกคือ กฎต้องเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เช่นนั้นคนในครอบครัวจะไม่ยอมที่จะทำ วันนี้เรามาดูกันว่าตระกูลใหญ่ของจิราธิวัฒน์เป็นอย่างไร เติบโตมาอย่างไร และบริหารอย่างไรให้เติบโตมาได้อย่างทุกวันนี้
75 ปี จากร้านขายของชำ สู่ธุรกิจ 4 แสนล้านบาท
เริ่มต้นจาก “คุณเตียง จิราธิวัฒน์” เข้ามาในประเทศไทยตอนอายุ 22 ปี มากับภรรยาและลูกชายคนโต คือ “คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” โดยเริ่มจากเปิดร้านขายของชำใกล้บริเวณที่อยู่อาศัย คุณเตียงและลูกช่วยกันทำมาหากิน จากนั้นย้ายร้านไปเจริญกรุง เริ่มต้นจากการขายหนังสือต่างประเทศและนำเข้าของมาขาย
หลังจากนั้นเมื่อคุณสัมฤทธิ์เสียชีวิต คนที่เข้ามาบริหารต่อคือ “คุณวันชัย จิราธิวัฒน์” ซึ่งเป็นน้องชาย คุณวันชัยมีวิสัยทัศน์ที่ดีมาก เดิมทีครอบครัวเราเป็น “กงสี” เราจะได้เงินเดือนน้อยมาก ทุกอย่างสามารถเบิกได้จากบริษัท ดังนั้นการที่ธุรกิจไม่ดี ครอบครัวจะไม่ดีตามไปด้วย มันไม่มีการแยกว่าอะไรเป็นส่วนของธุรกิจหรือส่วนของครอบครัว ในสมัยคุณวันชัย สิ่งที่ท่านทำคือ เริ่มขยายการค้าขายไปต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจมีการเติบโตขึ้น ความเป็นผู้นำของคุณสัมฤทธิ์และคุณวิชัยมีความแตกต่างกัน คุณสัมฤทธิ์ มีคำสั่งที่เด็ดขาด เป็นคนที่ฉลาดมาก ตัดสินใจไม่เคยผิด เพื่อให้ทุกคนทำตาม ส่วนคุณวันชัยจะให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม
ในส่วนของธรรมนูญครอบครัว (Family council) เริ่มในปี 2001 คือ 22 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นถือว่าตระกูลจิราธิวัฒน์ก็เป็นผู้บุกเบิกมาก ยิ่งเทียบกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ค่อยมีใครจะทำ เราเริ่มทำเพราะเห็นตัวอย่างในยุโรป ธุรกิจครอบครัวในยุโรปอยู่กันได้ 3 – 4 Generations เป็นอย่างน้อย แล้วทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ คนจีนจะชอบพูดว่าอยู่ได้แค่ 3 generations ก็จบแล้ว “รุ่นแรกสร้าง รุ่นสองขยาย รุ่นสามทำลาย” เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
กว่าจะมาเป็น Central Group
คุณสุกุลยาเล่าว่า Family Business ของเราแบ่งเป็น 3 ยุค ได้แก่
ยุคของคุณเตียง เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในปี 1927 โดยเริ่มจากการเปิดร้านขายของชำ
ยุคของคุณสัมฤทธิ์ ปี 1947 -1983 เปิด Central Trading Co. ที่เจริญกรุง, Central Wangburapa ปัจจุบัน คือ Central China World, Central Rajaprasong ปัจจุบัน คือ Central World จากนั้นก็เปิด Central Silom โดยในสิ่งที่แตกต่างคือ เรามี Super Market ซึ่งคุณสุทธิเกียรติเป็นคนนำเข้ามา ทำให้ธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น และเริ่มมี Coffee Shop เพราะตอนนั้นในห้างไม่ได้มี ถัดไปคือ Central Chidlom เริ่มต้นสร้างแค่ 2 ชั้น แต่สามารถสร้างเป็น 7 ชั้นได้เพราะคุณสัมฤทธิ์สร้างรากฐานให้รองรับตึก 7 ชั้นได้ไว้ตั้งแต่ต้น ถือเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ต่อไปคือ Central Ladprao เป็นพื้นที่สำคัญคือ ทำให้เกิด Central Pattana และโรงแรม สมัยก่อนเราทำแต่ขายปลีก เนื่องจากพื้นที่ใหญ่มากจึงเกิดอีก 2 ธุรกิจนี้ขึ้น
ยุคของคุณวันชัย เริ่มขึ้นในปี 1990 เกิดธุรกิจที่มีความหลากหลายและถี่มากขึ้น ในปี 1990 เป็นปีแรกที่โรงแรมเข้าตลาดหลักทรัพย์ อีก 5 ปีต่อมา CPN ก็เข้าตาม ในปี 1995 เป็นปีที่คุณสุกุลยาเริ่มเข้ามาทำงาน เริ่มมีการแยกธุรกิจ Sport, B2S, TOPs และ Power Buy เพื่อขยายการค้าสู่ข้างนอกได้ ไม่ต้องรอห้างสรรพสินค้าเปิด ในปี 2006 เริ่มธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า “ไทยวัสดุ” ที่ปัจจุบันมียอดขายมากกว่า Central Department Store ด้วยความมีสาขาที่เยอะกว่า และมีการกระจายตัวที่มากกว่า เราสามารถหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมาเสริมในธุรกิจเดียวกันแต่คนละรูปแบบ
ธุรกิจไทย สู่การสยายปีกอย่างยิ่งใหญ่ในยุโรป
ในปี 2011 ไปซื้อห้างในประเทศอิตาลี ชื่อ “La Rinascente” ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ในมุมมองของเราอิตาลีมีขนาดที่เหมาะสม สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยุโรปยังเป็นศูนย์กลางการค้าและห้างสรรพสินค้าชั้นนำของโลก การไปเป็นเจ้าของห้างที่อิตาลีทำให้เซ็นทรัลเป็นที่รู้จักของแบรนด์ระดับโลก ทำให้ได้คอนเนคชั่นจากแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการทำให้เซ็นทรัลได้รับการรู้จักอย่างกว้างขวางในระดับโลก
ในปี 2013 ไปเวียดนาม เริ่มต้นจากการลงทุนเปิดร้านเล็ก ๆ โดยใช้ความระมัดระวังในการลงทุน ค่อย ๆ เรียนรู้ จนมีประสบการณ์มากขึ้น เราเป็นคนก่อตั้ง Big C และได้ขายให้กลุ่มคาสิโน เพื่อเอาเงินจากการขาย Big C ไทย ไปซื้อ Big C เวียดนาม โดยบุกทั้งตลาดในยุโรปและเป็นผู้ถือหุ้น Grab Thailand โดยปัจจุบัน Central Group มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Companies) อยู่ 3 กลุ่มบริษัท คือ
1. Central Retail (CRC) ดูแลเรื่อง Retail & Brand
2. Central Pattana (CPN) ดูแลธุรกิจ Malls and Commercail Properties
3. Centara (CENTEL) ดูแลกลุ่มธุรกิจ Hospitality Hotels & Resorts Restaurants
Central วันนี้คือ Luxury Department Store Top 3 ของโลก
ในปัจจุบัน Central ขยายธุรกิจไป 14 ประเทศทั่วโลก หนึ่งที่ทำให้เราจัดการกับสถานการณ์โควิดได้ดี คือการที่เรามีสาขาที่อิตาลี ที่อิตาลีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้นก่อน ทำให้เรารู้วิธีเตรียมรับมือกับสิ่งนี้ มีห้างในเยอรมัน คือ KaDeWe, Oberpollinger และ Alsterhaus ทำให้ Central เป็น Luxury Department Store Top 3 ของโลก
“Central Master Model” ธุรกิจเติบโต ครอบครัวมีความสุขแบบฉบับ จิราธิวัฒน์
การมีสมาชิกครอบครัวมากมายทำให้ต้องแยกครอบครัว ธุรกิจ ออกอย่างชัดเจน แบ่งหุ้นกันชัดเจน มีการแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ Family, Ownership และ Business การแยกส่วนแบบนี้คือต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยสมาชิกในครอบครัวเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจ ได้เรียนรู้ในหลาย ๆ ด้าน สำหรับคนที่มีความสามารถให้ไปทำในตำแหน่งไหนก็ย่อมสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง การแบ่งระหว่างครอบครัวและธุรกิจ 3 ส่วน ได้แก่
1. Family council หน้าที่ของสภาครอบครัว จะดูแลเรื่องพื้นฐานของสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการต่าง ๆ ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล การจัดงานแต่งงาน งานศพ โดยปัจจุบันมีการตัดค่าเล่าเรียนออกไป เนื่องจากมองว่าสมาชิกครอบครัวมีฐานะ รายได้ดีขึ้น อีกทั้งบางครอบครัวเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เรียนต่างประเทศ เรียนโรงเรียนในไทย ทำให้ค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน ส่วนค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ให้ทั้งหมด แต่มีเพดานกำหนดไว้ตามที่ทำประกัน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความกลมเกลียวสานสัมพันธ์ภายในครอบครัว ทำให้จิราธิวัฒน์ ต้องมารวมตัวกันใน 2 วันสำคัญ คือ วันตรุษจีน โดยสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ ต้องมาเจอกันร่วมที่ “บ้านศาลาแดง” หรือเรียกกันว่าบ้านตายาย และอีกงานคือคริสต์มาส จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน
ครอบครัวจิราธิวัฒน์ยังนำการบริหารจัดการ (MIM) มาใช้เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของครอบครัว ทิศทางของธุรกิจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้านให้ทุกคนได้รับทราบ
2. Ownership มี CG Board หรือมาจาก Central Group มีบอร์ดทั้งหมดรวม 13 คน ซึ่งบอร์ดนี้คนข้างนอกที่รู้จักเป็นอย่างดีคือ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั่งอยู่ด้วยนั่นเอง หน้าที่ของบอร์ดจะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมูลค่าเกินกว่า 3,000 ล้านบาท รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัว การจ่ายเงินปันผลด้วย
3. Business มีกรรมการบริหาร (Executive Committee:Ex-com) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเซ็นทรัล สำหรับหน้าที่ของกรรมการบริหารนี้คือจะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยต้องแจ้ง CG Board ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้งโครงการจะมีการประชุมกันเป็นระยะ โดย Ex-com ประชุมทุกสัปดาห์ CG Board ประชุมทุกเดือน และสภาครอบครัวประชุมทุกไตรมาส
การมีสมาชิกมากมายไม่ได้เป็นอุปสรรคในการบริหารธุรกิจ เพราะครอบครัวทุกคนไม่ได้ยึดถือในอำนาจ ทุกคนพร้อมสละตำแหน่งในเวลาที่เหมาะสม เพราะตำแหน่งแลกมาด้วยความรับผิดชอบ
การรักษาความรัก ความกลมเกลียว ของคนในครอบครัวให้อยู่ยืนยาวไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งหากมีเรื่อง “ธุรกิจ” ซึ่งเต็มไปด้วยผลประโยชน์ การถือหุ้น ผลตอบแทน เข้ามาเกี่ยวข้อง จะกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภายในครอบครัว ทำให้ตระกูลที่มั่งคั่งมีธุรกิจใหญ่โตต้องร่าง “ธรรมนูญครอบครัว” ขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการยึดถือปฏิบัติสำหรับครอบครัว ทำให้ธุรกิจและครอบครัวไปด้วยกันได้อย่างเติบโตและมีความสุข ตระกูล “จิราธิวัฒน์” ถือเป็น “Central Master Model” ที่เป็นต้นแบบที่ดีและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งของประเทศไทย
พบประสบการณ์สุด Exclusive ได้ที่หลักสูตร2morrow Scaler เท่านั้น
ดูข้อมูลหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่
Website : 2morrowscaler, DurianCorp
Facebook : 2morrowscaler, DurianCorp
#2morrowScaler #2MS7 #หลักสูตรผู้บริหาร
#DURIAN #2morrowGroup #FIRM #สุกุลยาเอื้อวัฒนะสกุล #Central