เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ในหลักสูตร 2morrow Scaler รุ่นที่ 7 ได้รับเกียรติจาก คุณโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ขึ้นมาพูดในหัวข้อ “Scale ธุรกิจไร้พรมแดน ด้วยความเข้าใจแหล่งเงินทุน” และชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นั้นจะเติบโตบนความไม่แน่นอน
จากความท้าทายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ, ภัยธรรมชาติที่รุนแรง และ การขาดแคลนทรัพยากร, ภาวะเงินเฟ้อ และ ต้นทุนทางการดำเนินงาน, สังคมสูงวัย, พฤติกรรมผู้บริโภคใน Next Normal และ Covid-19 และ การกลายพันธ์โรคอุบัติใหม่อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
SME D Bank ชี้เศรษฐกิจไทยปี 66 เติบโตบนความไม่แน่นอน!
นอกจากนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นั้น GDP จะเพิ่มขึ้นราว 2.7-3.7% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.5-3.5% จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านคน การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.2% การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.1% และการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 2.7% ส่วนด้านการส่งออกลดลง -1.6% การนำเข้าลดลง -2.1% จากเศรษฐกิจโลกที่โตช้าลงทำให้ประเทศไทยที่เน้นการส่งออกเป็นหลักเจอปัญหาในส่งออกไปต่างประเทศ และการอุปโภคภาครัฐลดลง -1.5%
นักท่องเที่ยวไหลเข้าไทยเพิ่ม แนวโน้มจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นชะลอตัวเล็กน้อยเกิดจากต้นทุนในการประกอบกิจการสูงถึง 45.33% จำนวนลูกค้าและกำลังซื้อของคงที่คิดเป็น 38.67% ไม่เพียงเท่านั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยอย่างต่อเนื่องถึง 24.94% ทำให้การเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลเพิ่มมากขึ้น 19.06% และประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอยู่ที่ 12.24% โดย SMEs ให้ความสำคัญกับการขยายตลาดเป็นหลัก แต่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนควรพัฒนาธุรกิจอย่างรอบด้าน ซึ่งเป้าหมายทางธุรกิจในระยะ 1-3 ปีข้างหน้ามองถึงการหากลุ่มลูกค้า/ตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ อันประกอบไปด้วย นำระบบ IT มาใช้กับธุรกิจ พัฒนานวัตกรรมใหม่สู่ลูกค้า เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การขายออนไลน์ พัฒนาตราสินค้าหรือแบรนด์ของตนเอง และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์แบะการบริการ
4R ช่วย SME อยู่รอด
นอกจากนี้คุณโมกุลได้พูดถึง BCG Model ซึ่งเป็นแนวความคิดขับเคลื่อนธุรกิจที่ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ในการทำธุรกิจโดยใช้ความหลากหลายทางชีวภาพ และชี้ให้เห็นว่า SME ควรปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ในอนาคตนั้นควรจะประกอบด้วย 4R ได้แก่
Rethink เปลี่ยนความคิดใหม่ พัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคกว่า 45% ทั่วโลกพร้อมเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Redesign ปรับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน จากการทำธุรกิจแบบ ESG Model ที่เป็นการทำธุรกิจที่ประณีตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีตลอดห่วงโซ่คุณค่าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
Reprocess ปรับกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับธุรกิจ
และสิ่งสุดท้ายคือ Rebalance ปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม พร้อมทั้งยกตัวอย่างธุรกิจที่ใช้ BCG Model ประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่าง การยกระดับกะลามะพร้าวเป็นถ่านอัดแท่ง ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประโยชน์จากกะลามะพร้าวที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะหลายหมื่นตันต่อเดือน
ตามแนวคิดของคุณโมกุลที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการปรับเปลี่ยน และพัฒนาธุรกิจในแต่ละภาคส่วน เพื่อประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อันเป็นแนวทางที่ควรใช้ในการปรับตัวให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
#2morrowScaler #2MS7
#DURIAN #2morrowGroup #FIRM
#โมกุลโปษยะพิสิษฐ์ #Scaleธุรกิจไร้พรมแดนด้วยความเข้าใจแหล่งเงินทุน